วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

10 คำถาม - คำตอบ จากใจเอ็นจีโอ

10 คำถาม - คำตอบ จากใจเอ็นจีโอ


มีคำถาม ที่เกี่ยวข้องกับเอ็นจีโอมากมาย ที่สาธารณชนต้องการใคร่รู้ และวันนี้แกนนำเอ็นจีโอ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานด้าน NGO มา 15 ปี ทั้งในภาคเมืองและภาคชนบท สรุปเป็นคำถามและคำตอบอย่างน่าสนใจดังนี


1. NGOs รับเงินต่างชาติ จริงหรือไม่ ? 

ตอบ เรื่องนี้จริง มีหลายองค์กรที่ได้ทุนสนับสนุนจาก ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ จะเป็น ฝั่งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือ ออสเตรเลีย โดยเงินเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นของรัฐบาลแต่ละประเทศ เช่น USAID Canadafund AUSAID DANCED และสถานฑูตของแต่ละประเทศ ฯลฯ

นอกจากนั้น ก็ยังรับเงินจากภาคเอกชน เช่น มูลนิธิ และ บริษัทต่าง ๆ เช่น มูลนิธิฟอร์ด ร๊อคกี้เฟลเลอร์ World Vision อย่างบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ ที่เรารู้จักเป็นบริษัทระดับโลก ล้วนแล้วมีมูลนิธิ หรือ มีกองทุนในการพัฒนาสังคมทั้งสิ้น เช่น NOKIA ลูเซ่น Microsoft นี่ยังไม่รวมพวกองค์กรภายใต้ UN ทั้งหลาย เช่น UNAIDS UNCEF UNESCO ILO
2. NGOs ไทย นอกจากรับเงินต่างชาติ แล้ว ยังรับเงินใครอีก ? 

ตอบ รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม งานด้านสาธารณสุขก็ได้ทุนจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง กองโลกเอดส์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนวิจัยแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานสลากออมสิน ป.ป.ส.

นอกจากนั้น NGOs ในเมืองไทยหลายแห่ง ได้รับการบริจาคจาก บริษัทในประเทศ นับไม่ถ้วน รวมถึงเงินบริจาค จากประชาชนทั่วไป หรือบางแห่ง มีรายได้จากการดำเนินกิจกรรม หรือ ขายของที่ระลึก รวมถึง เงินดอกเบี้ยที่ฝากธนาคาร แล้วนำเงินปันผลมาดำเนินการ
3. รับเงินต่างชาติ หมายถึง ขายชาติหรือ ? 

ตอบ ไม่มีใครสรุปอะไรแคบ ๆ แบบนั้นแน่นอน หาก การสนับสนุนเงินเหล่านั้น นำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ย่อมไม่มีใครกล่าวได้ว่า การกระทำนั้น เป็นการ ทำลายชาติ หรือ ขายชาติ เพราะแม้แต่รัฐบาลไทย ก็ยังรับเงินจากองค์กรแหล่งเดียวกันกับ NGOs ไทย มา ดำเนินโครงการในประเทศมากมาย ไม่ว่าจะ WHO ในยุคแรกที่มาแก้ปัญหาเรื่องโรคเอดส์ DENCED ใน ด้านสิ่งแวดล้อม และ อีกมากมาย ปีหนึ่งเป็นพันล้านบาท
4. NGOs คือใคร ? 

ตอบ เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย ที่ได้ยิน ได้อ่าน ได้เห็น ตัวหนังสือ ที่เขียนถึง กลุ่ม NGOs มานับครั้งไม่ถ้วน แต่น้อยครั้ง ที่จะมีการระบุลงไปว่า NGOs นั้นคือใคร แล้วมีที่มาอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นทางนิเทศศาสตร์ที่การรับรู้ของประชาชนผ่านสื่อในเชิงปริมาณ แต่เหตุใด ประชาชนผู้รับสื่อถึงยังไม่รู้จัก NGOs เสียที และหลายครั้ง ที่มีความสับสนระหว่าง NGOs ( Non Government Organization ) กับ POs (people organization) และการที่ไม่เข้าใจที่มาที่ไป และ เป็นอยู่ขององค์กรเหล่านี้ จึงเป็นเหตุ ให้ความเข้าใจหลังจากนั้นทั้งหมด มีความคลาดเคลื่อนไปอย่างมากมาย

NGOs คือ องค์กรพัฒนาสาธารณกุศล ที่ทำงานในด้านต่าง ๆ มีทั้งทำงานกับผู้ด้อยโอกาส ต่าง ๆ เช่น เด็กเร่ร่อน พิการ เอดส์ คนชรา ผู้หญิง ที่ถูกใช้ความรุนแรง แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ หรือบ้างก็ทำงานตามประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน หรือบ้างก็ทำงานชุมชน ติดพื้นที่ อย่างเช่น องค์กรในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีลักษณะทำงานทั้ง งาน สังคมสงเคราะห์ และ งานพัฒนา รวมถึง งานด้านการศึกษา และยกระดับองค์กรชุมชน คนทำงานส่วน ใหญ่ได้รับเงินเดือน แต่บางคนก็ทำงานในลักษณะอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทน


5. ทำไม NGOs ต้องต่อต้านการพัฒนา ? 

ตอบ ไม่คิดว่า NGOs ต่อต้านการพัฒนา แต่ส่วนใหญ่ มองเห็นอีกด้านของการพัฒนา ซึ่งมันก็คือ อีกด้านหนึ่งของเหรียญ โดยเฉพาะการลงไปช่วยเหลือให้ชุมชนสามารถมีพื้นที่ของตนเอง ในการบอก เล่า ผลกระทบของการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งนักพัฒนาภาครัฐ อาจมองไม่เห็น หรือ ไม่ได้บอกเรื่องราวเหล่านั้นต่อสาธารณะ ดังนั้น เพื่อที่สังคมจะได้มองเห็นการพัฒนาจากเหรียญทั้งสองด้าน NGO บางองค์กร จึงทำหน้าที่นี้

ส่วนโครงการใด ที่มองเห็นในแนวทางสอด คล้องกัน ก็จะมีความร่วมไม้ร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ในความเป็นจริง มีการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีระหว่าง GOs ( Government Organization) กับ NGOs ( Non Government Organization ) ซึ่ง มีอยู่มากมาย เต็มประเทศ เพียงแต่ว่า เรื่องแบบนี้ ไม่เป็นข่าวให้สาธารณะรู้จัก
6. ม็อบรับจ้าง ? 

ตอบ หากหมายถึง กลุ่มพลังมวลชนที่ออกมาเคลื่อน ไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น ปากมูล สมัชชาคนจน ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ไม่เชื่อว่า เป็นจริงตามข้อกล่าวหา เชื่อว่า องค์กรประชาชน POs เหล่านี้ เคลื่อนไหวโดยไม่รับสิ่งตอบแทน หรือ ว่าจ้างมา ดูอย่างกรณี ชาวบ้านปากมูลที่เข้าพบนายกทักษิณ หากรับจ้างมาวันละ 150 บาท หรือ กี่ร้อยกี่พัน ตามที่คนกล่าว หากัน ชาวบ้านเหล่านั้น จะเอาความรู้ที่ไหน ไปยันข้อมูลกับฝ่ายราชการ แบบเอาเป็นเอาตายได้ขนาดนั้น แล้วเหตุใด หน่วยสันติบาล ถึงไม่สามารถกระชากหน้ากากจอมปลอมเหล่านั้นมาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก็เพราะว่า ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐมีจริง
7. NGOs ยุยงชาวบ้าน ให้แข็งขืนต่อรัฐ ? 

ตอบ 50 : 50 แล้วแต่ตีความ หากการช่วยให้ชาวบ้าน รู้ถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิมนุษยชน อันเป็น สากล และ ความเป็นธรรม คือ การยุยงชาวบ้าน ให้แข็งขืนแล้วล่ะก้อ ก็เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ และนอกจากนั้น NGOs ยังทำหน้าที่สอนชาวบ้านในการจัดการข้อมูล รวบรวม สำรวจ ทำวิจัย และ วางกลยุทธในการต่อสู้ และประสานกับองค์กร ต่างๆ เพื่อผนึกกำลังในการสนับสนุนชาวบ้าน ส่วนการตัดสินใจ ในการเคลื่อนไหว กลุ่มชาวบ้าน POs เป็นคนตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น ๆ แต่แน่นอน ทุกการตัดสินใจของชาวบ้าน จะมี NGOs ยืนอยุ่เคียงข้างเสมอ ไม่ใช่อยู่เบื้องหลัง
8. การใช้ความรุนแรง 

ตอบ การต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรุนแรง แต่เรื่องต้น ด้วยการสื่อสาร การแสดง ออก ถึงปัญหาของตนเอง นับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อปัญหาไม่ได้รับการตอบสนอง และหลายครั้งถูกหลอกให้กลับบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ ความพยายาม และ ศรัทธาต่อรูปแบบการเจรจาต่างๆ ลดน้อยลง รวมถึง ลักษณะปัญหาที่ยาวนาน ทำให้สื่อมวลชนนิ่งเฉยต่อการเสนอ ข่าว ดังนั้น กลุ่มชาวบ้าน จึงคิดค้นกระบวนการทาง กลยุทธ ไม่ว่าจะปืนกำแพงทำเนียบ ยิงธนูส่งจดหมาย หรือ เอาขี้โคลนปาใส่ เป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่นั่น ไม่ได้มีเหตุผลในด้านความรุนแรง และหากจะมีความรุนแรงใด ๆ แน่นอนว่า ความรุนแรงนั้น เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ใช่มีเพียงประชาชนเป็นผู้กระทำให้เกิด ดั่งกรณีล่าสุด ที่ชาวบ้านพักทานอาหาร อยู่ห่างจากจุดโรงแรมที่จะมีการประชุม ครม.สัญจร แล้วก็โดนกำลังเข้าล้อมปราบ ซึ่งหากคุณเป็นชาวบ้านที่เดินทางมาเพื่อเรียกร้องความเป็น ธรรม แล้วกำลังพักทานข้าวกลางถนนอยู่ มีคนเอาเท้า และ ไม้มาไล่ตีคุณ พ่อแม่คุณ แน่นอนว่า มันยากที่จะทำให้คุณอยู่เฉย ๆ โดยไม่ตอบโต้ และการ ปะทะกันก็เกิดขึ้น อย่างที่เห็น
9. NGOs บางกลุ่มทำให้เสื่อมเสีย ? 

ตอบ มีคนพยายามจะแยก NGOs น้ำดี กับ NGOs น้ำเน่า ออกจากการ โดยสรุปเอาง่าย ๆ ว่า NGOs ที่ทำงานช่วยเหลือเด็ก ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เป็น พวกน้ำดี และ พวกที่ทำงานอยู่กับกลุ่มพลังมวลชน เป็นพวกน้ำเน่า จึงไม่เห็นด้วยกับกรอบคิดนี้ และเชื่ออย่างบริสุทธิใจว่า NGOs เหล่านั้น มีความตั้งใจดี และ ทำงานที่ยาก และจะต้องต่อสู้กับทัศนะคติ และ แรงเสียดทานทางสังคมมากน้อยเพียงใด ส่วนกลวิธีในการต่อสู้ และ การต่อรองกับฝ่ายรัฐ จะมีทางอื่นอีกมากน้อยเพียงใด แต่ก็หวังว่า เวลา และ ความจริงใจ จากทุกฝ่าย จะทำให้ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น รวมถึง อดีต NGO ที่เข้าไปร่วมงานกับรัฐบาลชุดนี้ คงมีความพยายามเพียงพอ ที่จะประสานทุกฝ่าย และ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่แน่นอน การแก้ปัญหา ต้องเอาขวานสับลงไปที่รากของปัญหา หากรัฐบาลปฏิรูปราชการได้ขนาดนี้ ก็ต้องสามารถตัดโคลนรากของปัญหา ที่อยุติธรรมมาหลายยุค หลายสมัย โดยยอมรับสิทธิชุมชนเข้ามาเป็นปัจจัยของการดำเนินนโยบายรัฐ
10. NGOs ควรทำอย่างไร ? 

ตอบ เจตนารมณ์ ของ NGOs ยังคงควรดำรงต่อไป ส่วนเสียงสะท้อน ขอให้ฟังให้มาก คนชั้นกลางเขาพูด เขาเชื่อเช่นนั้น ก็เพราะว่า เขารับรู้เช่นนั้น อย่าไปด่า หรือ น้อยใจเขาเลย มีโอกาส ก็ค่อย ๆ สื่อกันไป ใจ เย็นๆ อย่าทำลายมวลชน ที่อาจเข้าใจเรื่องแบบนี้ได้ ในวันหนึ่ง เพราะไม่ว่า NGOs หรือ GOs หรือ ประ ชาชนทั่วไป ก็ล้วนแล้ว อยากเห็นประเทศชาติดีทั้งนั้น เพียงแต่มองและเข้าใจปัญหาและสถานการณ์แตกต่างกันไป


สรุปแล้วบทบาทและหน้าที่ของเอ็นจีโอแท้จริงก็คือ ควรทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมมากกว่าทำลายสังคม ทำให้สังคมแตกแยกและหาผลประโยชน์ใส่ตัวเอง...!!!



วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546

1 ความคิดเห็น:

  1. สารจากใจ...

    ร่วมสรรค์สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ร่วมสานแรงหลอมรวมใจสู้ปัญหา
    ทั้งคุณวุฒิวัยวุฒิระดมปัญญา เพื่อพัฒนาเกษตรไทยสู่สากล
    วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนกล้า ซีเอสอาร์ถือปฏิบัติทั่วแห่งหน
    ปลดทิ้งทุกข์สุขยั่งยืนคืนชุมชน บรรลุผลบรรลุงานสำราญเอย

    คำนิยม : วิสาหกิจชุมชน LICH

    ตอบลบ