วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

เกษตรทฤษฎีใหม่ "ไร่นาสวนผสม" ตามแนวทางพระราชดำริ


       เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรรอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  "เศรษฐกิจพอเพียง" หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ให้สมดุลและพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
        การทำไร่นาสวนผสม (Diversified farm or Mixed farm) หมายถึง ระบบการเกษตรที่เกษตรกรสามารถทำนาข้าว ปลูกพืชได้หลายชนิดรวมถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกข้าว ไม้ผล พืชผัก เลี้ยงไก่ เป็ด เลี้ยงปลา เพื่อเป็นอาหารและขายเป็นรายได้ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องมีการวางแผนปลูกพืชพรรณให้เหมาะสมกับสภาพทางกายภาพของดินและที่ดิน โดยเฉพาะการนำวัสดุเหลือใช้จากผลิตอย่างหนึ่งไปเอื้อประโยชน์อีกอย่างหนึ่งในไร่นาแบบครบวงจร และการทำไร่นาสวนผสมจะต้องมีแหล่งน้ำเพื่อให้เพียงพอตลอดทั้งปี การปลูกพืชแต่ละชนิดให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันและปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำขึ้นเอง


 
        พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ (Self Sufficiency) ประหยัดและมีความสามัคคีในชุมชน การดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้










        
ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง 
        1. พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืช ในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย
        2. พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
        3. พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
        4. พื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ เช่น ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น


  - ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ
  - คุณภาพของดิน เช่น การเตรียมดิน เพื่อรักษาสภาพของดิน เพราะพื้นที่นี้เป็นดินถม ปุ๋ยที่ใส่ก็เป็นปุ๋ยที่ทำขึ้นเอง
  - การเลี้ยงปลา ทำบ่อเลี้ยงปลาดุก ในนาข้าวมีปลาตะเพียน เพื่อเป็นอาหารและรายได้เสริม
  - การเลี้ยงไก่-เป็ด เลี้ยงประมาณ 20-30 ตัว หมุนเวียนทุก 10 เดือน เพื่อนำมาเป็นอาหารในครัวเรือน โดยใช้เศษอาหาร รำและปลายข้าว จากผลผลิตการทำนามาใช้เลี้ยงไก่-เป็ด




    อย่างไรก็ตามอาจสามารถผสมผสานระหว่างการปลูกพืชต่างชนิด หรือการเลี้ยงสัตว์ต่างชนิด มีการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิต นำเศษวัสดุเหลือใช้จากกิจกรรมหนึ่งไปใช้กับอีกกิจกรรมหนึ่ง เช่น มูลสุกรเป็นอาหารปลา เศษพืชผักเป็นอาหารสุกร มูลสุกรใส่พืชผัก ลักษณะการทำกิจกรรมหลายๆ อย่างเช่นนี้เกษตรกรจะมีรายได้จากผลผลิตหลายๆ อย่าง มีการกระจายการใช้แรงงานตลอดทั้งปี มีความรักและผูกพันกับผืนนา มีความภาคภูมิใจในผลงาน ผลผลิตของตนเอง ไม่อยากทิ้งไร่นาไปที่อื่น เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี และลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้ออาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และแหล่งอาหารโปรตีน เช่น ปลา ไก่ 
     การจัดการกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรให้มีการผสมผสานเกื้อกูลกันอย่างได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ควรมีกิจกรรมหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ร่วมกันไปด้วย เนื่องจากพืชและสัตว์ใช้ทรัพยากรแตกต่างกันและมีห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกันอยู่ พืชโดยทั่วไปมีหน้าที่และบทบาทในการดึงเอาแร่ธาตุในดิน อากาศ และพลังงานจากแสงแดดมาสังเคราะห์ให้อยู่ในรูปของอาหารพวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน และแร่ธาตุที่สัตว์ใช้ประโยชน์ได้
       ขณะที่สัตว์ไม่สามารถบริโภคอากาศและแร่ธาตุที่จำเป็นโดยตรง ต้องบริโภคจากพืชอีกต่อหนึ่ง เมื่อสัตว์ขับถ่ายของเสียหรือตายลงก็จะเน่าเปื่อยย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับพืช วงจรความสัมพันธ์นี้จะหมุนเวียนรอบแล้วรอบเล่าจนกลายเป็นห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ การเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชเพียงอย่างเดียวในพื้นที่กว้างขวางจึงส่งผลกระทบต่อสมดุลระหว่างพืชกับสัตว์ ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศในที่สุด


ผลดีที่จะเกิดจากไร่นาสวนผสม  คือ
        1. เพิ่มระดับรายได้ มีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี
         2. ลดความเสี่ยงจากภาวะธรรมชาติและการตลาดแปรปรวน เนื่องจากไร่นาสวนผสมมีความหลากหลายของกิจกรรมการเกษตร ทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ อายุการเก็บเกี่ยวและผลผลิตที่ออกจำหน่ายมีความแตกต่างกัน สามารถช่วยลดการระบาดของโรคและศัตรูพืชลงได้ และบางครั้งราคาผลผลิตบางชนิดตกต่ำ ขณะบางชนิดราคาสูงให้ผลตอบแทนดีกว่า
        3. ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกให้น้อยลง พึ่งพาทรัพยากรในไร่นามากขึ้น
        4.กิจกรรมหลากหลายทั้งสามารถเพิ่มรายได้ มีอาหารไว้บริโภค และใช้สอยในครัวเรือน
        5.ในระยะยาวสร้างความสมดุลทางธรรมชาติทำให้ระบบนิเวศเกษตรชุมชนดีขึ้น ทั้งนี้ ระบบการผลิตไร่นาสวนผสมในประเทศไทย เกษตรกรนิยมปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นควบคู่กับการทำนาและการเลี้ยงสัตว์ การมีไม้ผลไม้ยืนต้นสร้างความร่มรื่น ความชื้นในระบบการผลิต การใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกจากเศษวัสดุการเกษตร โดยการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรในไร่นา และพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกน้อยลง ทำให้ระบบนิเวศเกษตรดีขึ้น

2 ความคิดเห็น:

  1. สารจากใจ...

    ร่วมสรรค์สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ร่วมสานแรงหลอมรวมใจสู้ปัญหา
    ทั้งคุณวุฒิวัยวุฒิระดมปัญญา เพื่อพัฒนาเกษตรไทยสู่สากล
    วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนกล้า ซีเอสอาร์ถือปฏิบัติทั่วแห่งหน
    ปลดทิ้งทุกข์สุขยั่งยืนคืนชุมชน บรรลุผลบรรลุงานสำราญเอย

    คำนิยม : วิสาหกิจชุมชน LICH
    ถ้าชอบกด Like ถ้าใช่กด Share เด้อพี่น้องคร้าาาบ...

    ตอบลบ
  2. *_ขออนุญาตโพสนะครับ_* จำหน่ายกล้าพันธุ์ไม้ป่าทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ อาทิเช่น สักทอง ยางนา พะยูง ประดู่
    มะค่า ตะเคียน ราคาไม่แพง จำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วประเทศกว่ายี่สิบปี
    สนใจติดต่อคุณไก่ 095-4654546 ,0946465654
    ID line kai54654546
    Email nangpaya@hotmail.com
    ชมผลงานและคุณภาพกล้าพันธุ์ไม้ได้ที่ www.takuyak.com
    หรือที่แฟนเพจ คุณไก่กล้าพันธุ์ไม้
    หรือชมคลิปที่ www.youtube.com ช่อง ชัยชนะ เสือเพ็ง
    หรือที่แฟนเพจ ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย

    ตอบลบ